ประวัติหน่วยงาน

          ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพืชพลังงานและไม้โตเร็ว ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ได้เริ่มทำการวิจัยและพัฒนาเรื่องการใช้ประโยชน์ชีวมวลเพื่อพลังงาน โดยเริ่มจากการพัฒนาการนำชีวมวลเศษเหลือจากภาคเกษตรมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านอัดแท่ง เอธานอล และเชื้อเพลิงทอร์ริไฟด์ เป็นต้น ในปี 2549 สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออก ให้กับบริษัทสหโคเจน (ชลบุรี) มหาชน จำกัด จากนั้นได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเขตภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ตามลำดับ ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวทำให้เห็นปัญหาและความเสี่ยงด้านปริมาณ ความสม่ำเสมอ และราคาของชีวมวลที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพืชพลังงานและไม้โตเร็ว สถาบันผลิตผลเกษตรฯ จึงได้ร่วมมือกับบริษัทสหโคเจนฯ ทำบันทึกข้อตกลงที่จะทำโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ปัจจุบันนอกจากความร่วมมือกับบริษัทสหโคเจนฯ แล้วยังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หยีน้ำเพื่อผลิตน้ำมันพืชและไบโอดีเซล และการพัฒนาไม้โตเร็วสกุล Acacia เพื่อปลูกบนพื้นที่เสื่อมโทรมสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 3 ปี  ให้ร่วมดำเนินงานวิจัยร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์พื้นที่ในพื้นที่ดินเค็ม ด้วยการปลูกไม้โตเร็วเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน และศึกษาและประเมินปริมาณผลผลิตของเมล็ดหยีทะเล แนวทางการปลูก และการพัฒนาการสกัดน้ำมันจากเมล็ดหยีทะเลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

         ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพืชพลังงานและไม้โตเร็ว สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มีโครงการร่วมกับคณะกรรมการพลังงานทางเลือก หอการค้าไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ทำการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพลังงานจากชีวมวลทั้งชีวมวลจากภาคการเกษตร และชีวมวลที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่เป็นสวนป่าพลังงาน ซึ่งจะทำให้เชื้อเพลิงชีวมวลที่ความมั่นคงทางด้านปริมาณ และสามารถควบคุมคุณภาพของเชื้อเพลิงชีวมวลได้ โครงการดังกล่าวมุ่งหวังให้มีการแก้ไขปัญหาพลังงานของชาติแบบบูรณาการ และเกิดผลกระทบต่อภาคเอกชนและประชาชนอย่างแท้จริง โดยเป็นการประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการ การพัฒนาการวิจัยจากทางสถาบันฯ และใช้เครือข่ายของหอการค้าทั่วประเทศในเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน และประชาชน ในการเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ

หน่วยงานที่มีความร่วมมือ

          สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.),  กรมป่าไม้กรมพัฒนาที่ดิน,บริษัทสหโคเจน กรีน จำกัด,บริษัทสหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน),  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), คณะกรรมการพลังงานทางเลือก หอการค้าไทย, สำนักงานปฏิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.)กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ